ทันตกรรม – โรคเหงือก


 โรคเหงือก

โรคเหงือก ถ้าอาการเหงือกอักเสบไม่ได้รับการรักษา อาการของโรคจะมีการลุกลามจากเหงือกอักเสบเป็น โรคปริทันต์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “รำมะนาด” เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ฟัน ไม่ว่าจะเป็น กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดปริทันต์ และผิวรากฟัน ซึ่งทำหน้าที่ยึดและพยุงฟัน โดยโรคปริทันต์จะทำให้กระดูกและเส้นใยที่คอยยึดฟันไว้ถูกทำลาย ร่องเหงือกจะกลายเป็นโพรงที่เศษอาหารและหินปูนจะเข้ามาสะสม ทำให้ฟันโยก ซึ่งจะส่งผลต่อการเคี้ยว ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจจะต้องถอนฟันในที่สุด การรักษาโรคปริทันต์จะเริ่มต้นด้วยการขูดหินปูน และเกลารากฟัน เป็นการกำจัดคราบจุลินทรีย์ และหินปูนที่เกาะบนผิวรากฟันให้สะอาด จากนั้นจะทำให้ผิวรากฟัน เรียบ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะต้องทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ภายหลังจากรักษาเสร็จแล้วประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดกลับมาดูอาการอีกครั้ง ว่าหายดีหรือไม่ และถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่เนื่องจากมีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดร่วมด้วย

หลักการสำคัญที่จะป้องกันโรคปริทันต์ได้ คือ การควบคุมคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นวิธีการโดยตรงที่จะทำให้เหงือกมีสุขภาพดี และทุกคนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองที่บ้าน การควบคุมคราบจุลินทรีย์นั้นทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ซึ่งควรปฏิบัติอย่างสมํ่าเสมอทุกวันโดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก นอกจากนั้นควรใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวันเพื่อทำความสะอาดบริเวณซอกฟันที่แปรงสีฟันทำความสะอาดไม่ถึง

นอกจากนี้ ทันตกรรมโรคเหงือกยังมีการรักษาอย่างอื่น อีกเช่น
 ศัลยกรรมเพื่อเพิ่มความยาวของฟัน (Crown lengthening)
 ศัลยกรรมตกแต่งเหงือก (Gingivectomy and gingivoplasty)
 ศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก (Gingival graft)