ทันตกรรมทั่วไป – ฟันปลอม


 ฟันปลอม

ฟันปลอม คือ ฟันที่มาทดแทนฟันธรรมชาติที่เสียไป ทันตแพทย์จะแนะนำให้มีการใส่ฟันปลอมในกรณีที่มีการสูญเสียฟัน เนื่องจากฟันปลอมมีประโยชน์ในหลายกรณี คือ

 ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร เพื่อให้ฟันธรรมชาติที่เหลือไม่รับแรงมากจนเกินไป
 ช่วยป้องกันฟันที่เหลืออยู่ไม่ให้ล้มหรือเอียงเข้าหาช่องว่างบริเวณที่ถอนฟันไป
 ช่วยป้องกันเศษอาหารมากระแทกเหงือกบริเวณที่ฟันหายไป ทำให้เจ็บเหงือกหรือเหงือกอักเสบได้
 ช่วยให้บุคลิกดี และทำให้ออกเสียงได้ชัดขึ้น

ฟันปลอมมี 2 ชนิด คือ

 ฟันปลอมแบบถอดได้
ฟันปลอมแบบนี้เหมาะสำหรับกรณีฟันหลุดหลายซี่ สามารถถอดมาทำความสะอาดได้ง่าย แต่มีข้อเสียเช่นกัน คือ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายปาก หรือระคายเคืองในช่วงสัปดาห์แรกๆได้ และแรงในการบดเคี้ยว อาหารจะน้อยกว่าฟันธรรมชาติและฟันปลอมชนิดติดแน่น ฟันปลอมแบบถอดได้สามารถแยกได้เป็น 2 แบบ คือ
      ฟันปลอมฐานอะคริลิก ฟันปลอมแบบนี้จะมีราคาถูกกว่า แต่จะมีความแข็งแรงน้อยกว่า และ รับรู้ความรู้สึกร้อนเย็นของอาหารได้น้อยกว่าแบบโลหะ
      ฟันปลอมโครงโลหะ มีราคาแพงกว่าฟันปลอมฐานอะคริลิก แต่จะมีความแข็งแรงมากกว่า บางกว่า และรับรู้ความรู้สึกร้อนเย็นของอาหารได้ดีกว่าแบบฐานอะคริลิก

เมื่อใส่ฟันปลอมชิ้นใหม่อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวทั้งด้านการพูด และการทานอาหาร รวมถึงความรู้สึกเทอะทะหรือ หลวมก็เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย การมีน้ำลายไหลออกมาก ความรู้สึกว่าลิ้นคับปาก หรืออาการระคายเคืองเล็กน้อย เป็นเรื่องปกติค่ะ โดยกล้ามเนื้อของแก้ม,ลิ้น และเนื้อเยื่อในช่องปากจะค่อยๆ ทำความคุ้นเคยในการประคองฟันปลอมไว้ จนเริ่มเกิดความเคยชิน กับฟันปลอม แต่หากใช้งานไปซักระยะ แล้วมีอาการเคี้ยวเจ็บ ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขค่ะ

 ฟันปลอมแบบติดแน่น
ในกรณีที่ฟันหายไป 1-2 ซี่ การทำสะพานฟันช่วยทดแทน จะมีความคล้ายคลึงฟันธรรมชาติมากกว่าฟันปลอมแบบถอดได้ รู้สึกสบายมากกว่า ทำให้สามารถเคี้ยวอาหารได้เต็มแรงปกติของเรา และลักษณะการใส่ฟันปลอมแบบนี้คือ จะกรอฟันข้างเคียงฟันที่หายไปเพื่อทำเป็นตัวยึดสะพานฟัน โดยยึดฟันที่อยู่หัวและท้ายของฟันที่หายไป แต่การใส่ฟันปลอมแบบนี้ไม่เหมาะกันคนที่ฟันหลุดหลายๆซี่ค่ะ และ เมื่อใส่สะพานฟัน การดูแลรักษาความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากถ้าทำความสะอาดไม่ดีพออาจจะทำให้มีฟันผุใต้ครอบฟันหรือเป็นโรคเหงือกได้ ทำให้ครอบฟันนั้นมีอายุการใช้งานสั้นและต้องรื้ออกได้ในภายหลังค่ะ

การทำครอบฟัน

เป็นวิธีการบูรณะฟันธรรมชาติ ที่มีการสูญเสียเนื้อฟันออกไปมากเกินกว่าจะสามารถบูรณะด้วยวิธีทั่วไป คือ การอุดฟัน โดยประโยชน์ของครอบฟัน คือ การคงสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่และทดแทนส่วนที่สูญเสียไป

เมื่อใดจึงจะทำครอบฟัน

 มีรูผุขนาดใหญ่ หรือมีการผุหลายด้าน ซึ่งไม่สามารถอุดฟันแบบธรรมดาได้ จึงควรใช้วิธีการครอบฟัน เพื่อรักษาโครงสร้างของฟันเดิมไว้
 ฟันร้าว ฟันแตกหัก ฟันที่ได้รับความเสียหายเหล่านี้ ไม่สามารถใช้วิธีการอุดฟันได้ เนื่องจากโครงสร้างฟันอ่อนแอเกินไป การทำครอบฟันเป็นการทำให้ฟันที่มีรอยร้าวเป็นชิ้นเดียวกัน เพื่อป้องกันการร้าวหรือแตกหักที่จะเกิดขึ้นอีกต่อไปได้
 ฟันสึกมาก ฟันสึกมักมีสาเหตุจากการเคี้ยวที่หนักเกินไป หรือการรับประอาหารที่เป็นกรดมากเกินไป ส่งผลฟันสึกจนไม่สามารถอุดได้ การทำครอบฟันจะช่วยปกป้องโครงสร้างฟันที่เหลืออยู
 ภายหลังรับการรักษารากฟัน ทำให้มีการสูญเสียฟันไปบางส่วนและโครงสร้างฟันจะเปราะกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสแตกหักง่าย โดยปกติภายหลังการรักษารากฟัน ทันตแพทย์จะแนะนำให้มีการทำครอบฟันร่วมกับการทำเดือยฟัน เพื่อให้มีโครงสร้างของฟันที่แข็งแรง สามารถรองรับแรงบดเคี้ยวได้ตามปกติ